วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ตำนานวันวาเลนไทม์


ต้นกำเนิด "วันวาเลนไทน์"




อีกไม่กี่วันนับจากวันที่เขียนบทความนี้ ก็จะใกล้จะถึงวันวาเลนไทน์ ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เหมือนกับทุกๆปีที่ผ่านมา ในวันวาเลนไทน์นี้หลายคนให้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "วันแห่งความรัก" ซึ่งวันดังกล่าวผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราหลายท่านได้ให้ความเป็นห่วงถึงค่านิยมของวันรุ่นบางคน ที่มักจะมีค่านิยมกับวันวาเลนไทน์ไปในทางที่ไม่เหมาะสมเท่าใดนัก เช่น ใช้เป็นวันเปิดบริสุทธิ์บ้าง วันแห่งการมีเซ็กส์บ้าง ดังที่ปรากฎเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์และทีวีรายวัน ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาหลายประการ
ดูจากผลการสำรวจล่าสุดโดย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2549 ในเด็กนักเรียนระดับปวช.ใน 20 จังหวัด พบเยาวชนชายร้อยละ 36 และหญิงร้อยละ 28 มีเพศสัมพันธ์แล้ว อายุเฉลี่ยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเพียง 15 ปี และใช้ถุงยางอนามัยเพียงร้อยละ 35 เท่านั้นซึ่งถือว่าต่ำมาก ทำให้วัยรุ่นไทยติดเชื้อเอดส์แล้วกว่า 90,000 คน และมีแนวโน้มจะติดมากขึ้น นอกจากนี้วัยรุ่นอายุ 10-24 ปี ยังมีอัตราติดเชื้อกามโรคสูงขึ้นต่อเนื่องทั้งชายและหญิง จากร้อยละ 23 ใน พ.ศ.2544 เป็นร้อยละ 43 ในปี 2549 จากผู้ป่วยทั้งหมดที่มี 9,735 คน โรคที่พบมากที่สุด คือ โรคหนองใน พบได้เกือบ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยทั้งหมด" 
ดูตัวเลขสถิติข้างต้นแล้ว คงทำให้หลายคนมีความเป็นห่วง อย่างไรก็ดี อยากจะให้ท่านผู้อ่านทั้งที่เป็นวัยรุ่น และวัยไม่รุ่นได้ลองมาอ่านบทความดังต่อไปนี้ โดยผู้เขียนหวังว่าอาจจะเปลี่ยนค่านิยมของวัยรุ่นบางคนที่กำลังจะมีค่านิยมที่ผิดเพี้ยนไปดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ได้ทราบความเป็นมา หรือตำนานของวันวาเลนไทน์
ความจริงวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ ที่สังคมไทยบางส่วนให้เกียรติยกย่องว่าเป็นวันแห่งความรักนั้น ถือกำเนิดมาไม่ใช่เพื่อให้เด็กสาวต้องเสียพรหมจรรย์ เหมือนกับที่สังคมไทยบางส่วน (อาจจะมากขึ้นด้วย)รับรู้หรือเข้าใจกัน แต่เป็นวันเมตตาและความรักที่บริสุทธิ์ ปราศจากมัวหมองหรือการฉวยโอกาสทั้งสิ้น
มีตำนานเล่าขานความเป็นมาอยู่ 2 เรื่อง หนึ่งคือเรื่องของ วาเลนตินัส และนักบุญวาเลนไทน์ ผู้เปี่ยมไปด้วยความรักและความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง ต้องจบชีวิตด้วยการรับโทษประหารในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270 หรือประมาณ 1,728 ปีล่วงมาแล้ว
วาเลนตินัส เป็นผู้นำคริสตชนคนหนึ่งที่มีความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ทุกๆวันจะนำอาหารและของใช้จำเป็นไปวางไว้หน้าประตูบ้านของคนยากจนโดยไม่ให้คนเหล่านั้นได้รู้ทั้งนี้ในสมัยนั้น การนับถือศาสนาคริสต์เป็นเรื่องต้องห้าม ใครขืนนับถือจะถูกจับติดคุก ต่อมาวาเลนตินัสก็ถูกจับติดคุกเพราะความเป็นคริสต์ ระหว่างอยู่ในคุกได้พบรักกับสาวตาบอดซึ่งเป็นลูกสาวของผู้คุมคุก เขาอธิษฐานที่เปี่ยมไปด้วยความรักและปรารถนาดีให้สาวคนรักจนตาหายบอด ทำให้ครอบครัวผู้คุมเกิดศรัทธาหันมานับถือคริสต์ จักรพรรดิโรมัน ที่ชื่อคลอดิอุสที่ 2 รู้เข้าโกรธมาก สั่งลงโทษประหาร ก่อนถูกประหารชีวิต วาเลนตินัสเขียนจดหมายถึงคนรัก 1 ฉบับ ลงท้ายจดหมายว่า จากวาเลนตินัสของเธอ
วันที่ถูกประหารคือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270 คนทั่วไปในยุโรปและอเมริกาประทับใจในความรักของเขา จึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันแห่งความรักวาเลนไทน์


 
ส่วนอีกตำนานหนึ่งเล่าว่า "วาเลนไทน์" มาจากชื่อของนักบุญ St. Valentine ในสมัยกษัตริย์คลอดิอุส ที่ 2 แห่งกรุงโรม St. Valentine เป็นบาทหลวงอยู่ที่โบสถ์ใกล้ๆ กรุงโรม สมัยนั้นกษัตริย์คลอดิอุส ที่ 2 ออกกฎห้ามมีการแต่งงานในเมืองของพระองค์ เพราะทรงต้องการให้ผู้ชายทุกคนไปเป็นทหารเพื่อทำศึกสงคราม สร้างกรุงโรมให้เป็นอาณาจักรที่รุ่งเรือง หากผู้ชายที่มีครอบครัวไปเป็นทหารจะมีห่วงและมีอารมณ์อ่อนไหวเกินกว่าจะเป็นนายทหารที่ดี ถ้าหากไม่มีการแต่งงานผู้ชายจะสนใจการรบมากขึ้น
บาทหลวงวาเลนไทน์รู้สึกเห็นอกเห็นใจหนุ่มสาวที่มีความรัก จึงแอบจัดพิธีแต่งงานให้หนุ่มสาวที่ต้องการแต่งงานหลายคู่อย่างลับๆ โดยภายในงานจะมีเพียงเจ้าบ่าว เจ้าสาว และบาทหลวง พวกเขาต้องกระซิบคำสาบานและคำอธิษฐานต่อกัน ขณะเดียวกัน ก็ต้องเงี่ยหูฟังเสียงการเดินตรวจตราของเหล่าทหารด้วย
เรื่องรู้ถึงหูคลอดิอุสเข้าจนได้ ในที่สุด นักบุญวาเลนไทน์ถูกจับเข้าคุกและถูกทรมานอย่างสาหัส ระหว่างที่อยู่ในคุกมีคู่แต่งงานที่บาทหลวงวาเลนไทน์เคยทำพิธีให้หลายคู่ลอบไปเยี่ยมเยียนอย่างสม่ำเสมอ พวกเขาได้โยนดอกไม้และกระดาษเขียนข้อความต่างๆ เข้าไปทางช่องหน้าต่างของคุก เพื่อให้นักบุญวาเลนไทน์รู้ว่า พวกเขามีความเชื่อและศรัทธาในความรักเช่นกัน
ขณะที่ถูกขังอยู่ในคุกรอการประหาร บาทหลวงวาเลนไทน์ได้รู้จักกับผู้คุมชื่อแอสทีเรียส ซึ่งมีลูกสาวตาบอด และขอให้เขาช่วยรักษา เหมือนปาฏิหาริย์เธอสามารถมองเห็นได้อีก ลูกสาวของผู้คุมจึงมักมาเยี่ยมและให้กำลังใจบาทหลวงอยู่เสมอ กระทั่งก่อนเสียชีวิตเขาได้เขียนจดหมายถึงเธอ และลงท้ายว่า "From your Valentine" นักบุญวาเลนไทน์ เสียชีวิตในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270 ในคุกแห่งนั้นนั่นเอง
ต่อมา สันตะปาปา Gelasius ยกย่องให้ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันวาเลนไทน์ เพื่อรำลึกถึงคุณความดี ความกล้าหาญ และความเสียสละของนักบุญวาเลนไทน์ โดยเฉพาะในเรื่องของ "ความรัก" และ "มิตรภาพ" 

จะเห็นได้ว่า เจตนารมณ์ของบาทหลวงวาเลนไทน์แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้นท่านมีเจตนาเช่นไร ท่านผู้อ่านคงจะมีคำตอบให้กับตนเองแล้ว การจะมีความเชื่อและค่านิยมเช่นใดนั้นทีมงานกรมสุขภาพจิตไม่ขอออกความเห็น เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล แต่การมีค่านิยมความเชื่อที่มีประโยชน์และเป็นคุณกับตนเองและสังคมนั้น ทีมงานขอให้เป็นความเชื่อบนพื้นฐานของ วัฒนธรรม จารีตประเพณี ความเหมาะสม และความพร้อมด้านวัยและอื่นๆของหนุ่มสาวเหล่านั้น ประกอบกัน ไม่น่าจะใช่เรื่องหนึ่งเรื่องเดียว เช่นที่หลายคนเป็นห่วงคือเอาเฉพาะความพร้อมของตนเองเท่านั้น ในการจะตัดสินใจใดๆก็ตามเพื่อแสดงออกถึงค่านิยมของตนเอง เพื่อในท้ายที่สุดจะไม่เกิดปัญหาหลายๆอย่างดังที่กล่าวแล้วตอนต้น ที่หลายคนแสดงความเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ นั่นเอง


เรียบเรียงโดย ทีมงานกรมสุขภาพจิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น