ไอคิว และ อีคิว
ไอคิว และ อีคิว
ศจ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ
แหล่งที่มาของข้อมูล : หนังสือ “เลี้ยงลูกถูกวิธี ชีวีเป็นสุข”
ไอคิว คืออะไร
ไอคิว เป็นคำที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่าหมายถึง ระดับสติปัญญาหรือเชาว์ปัญญาของคน คนไอคิวดีจะเป็นคนเก่งมีสมองรับรู้ว่องไว เรียนหนังสือเก่ง ไอคิวนั้นมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Intelligence Quotient แล้วย่อเป็น IQ คนที่ใช้คำนี้เป็นคนแรกคือ LM Terman เป็นคนอเมริกันใช้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1916ไอคิวของมนุษย์แต่ละคนจะได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่ทางพันธุกรรม ฉะนั้นพ่อแม่ที่มีไอคิวสูงมักมีลูกไอคิวสูงด้วย แต่บางครั้งพ่อแม่ไอคิวสูงลูกอาจมีไอคิวไม่สูงได้เช่นกัน ส่วนพ่อแม่ที่มีไอคิวไม่สูงลูกจะมีไอคิวไม่สูงเหมือนพ่อแม่ แทบไม่เคยปรากฏว่าพ่อแม่ไอคิวไม่สูงแล้วมีลูกเป็นอัจฉริยะ แต่ในทางตรงข้ามพ่อแม่ที่มีไอคิวสูง บางครั้งอาจมีลูกปัญญาอ่อนได้จากสาเหตุบางประการฉะนั้น ไอคิว จึงเป็นสิ่งติดตัวลูกมาตามธรรมชาติเพราะถ่ายทอดทางพันธุกรรม และพบว่าประสบการณ์ของชีวิต การศึกษาต่างๆ เปลี่ยนแปลงระดับไอคิวได้น้อยมาก
อีคิว คืออะไรอีคิว เป็นคำค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับไอคิวแต่อีคิวสามารถดึงดูดความสนใจคนได้มาก ทำให้คนหันมาสนใจคุณสมบัติเรื่องอีคิวของคนอย่างมาก อีคิวเป็นคำมาจากภาษาอังกฤษว่า Emotional Quotient และย่อว่า EQ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นชาวอเมริกันเช่นกันชื่อ Daniel Goleman เขียนเมื่อปี ค.ศ.1995อีคิว นั้นหมายถึงความสามารถของคนด้านอารมณ์ จิตใจ และยังรวมถึงทักษะการเข้าสังคมด้วย ซึ่งที่จริงก็คือ วุฒิภาวะทางอารมณ์ หรือ ทักษะชีวิต นั่นเอง แต่คนทั่วไปแล้ว จะไม่ค่อยเข้าใจหรือไม่ซาบซึ้งนักว่าวุฒิภาวะทางอารมณ์นั้นหมายถึงอะไร จึงไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจมากนัก จนกระทั่งมีคำว่า อีคิว เกิดขึ้น จึงเป็นคำที่ติดตลาดเหมือนคำว่า ไอคิว คนจึงหันมาสนใจและให้ความสำคัญขึ้นอย่างมากซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีทีเดียวอีคิว หมายถึง ความสามารถด้านต่างๆ ทางจิตใจ อารมณ์ และสังคมหลายด้าน คนที่มีอีคิวสูงจะมีคุณสมบัติทั่วๆ ไป ดังนี้ - มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ - มีการตัดสินใจที่ดี - ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ - มีความอดกลั้น - ไม่หุนหันพลันแล่น - ทนความผิดหวังได้ - เข้าใจจิตใจของผู้อื่น - เข้าใจสถานการณ์ทางสังคม - ไม่ย่อท้อหรือยอมแพ้ง่าย - สามารถสู้ปัญหาชีวิตได้ - ไม่ปล่อยให้ความเครียดท่วมทับความคิดไปหมดจนทำอะไรไม่ถูกเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับอีคิวและไอคิว คืออีคิว เป็นเรื่องที่สอนให้เกิดขึ้นได้ สามารถฝึกฝนให้ลูกของเรามีอีคิวที่ดีขึ้นสูงขึ้น ในขณะที่เราไม่สามารถทำให้ลูกมีไอคิวสูงขึ้น - คนที่มีอีคิวดีมักจะเป็นคนที่มีความสุขในชีวิต ในขณะที่คนมีไอคิวดีอาจมีปัญหาชีวิตมากมายได้ - คนที่มีอีคิวดี มักจะประสบความสำเร็จสูง ในขณะที่คนที่มีไอคิวดีก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าคนนั้นจะประสบความสำร็จ มีความสุข มีชื่อเสียงเสมอไป - คนที่มีไอคิวดี มักประสบผลสำเร็จดีมากในการเรียนหนังสือ หรือทำงานด้านวิชาการ แต่เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับวิชาการ คนไอคิวสูงอาจไม่ประสบผลสำเร็จ เช่น เรื่องชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว หรือชีวิตในสังคมทั้งนี้จากเหตุผลที่ว่าการวัดระดับไอคิวของคนที่ทำอยู่ในปัจจุบันนั้นวัดความสามารถของคนเพียงไม่กี่อย่าง การวัดไอคิวจะวัดความสามารถด้านภาษา และการคิดคำนวณเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่จริงแล้วความสามารถของคนนั้นมีมากมายหลายด้าน เช่น ความสามารถด้านต่อไปนี้ - ดนตรี - กีฬา-การเคลื่อนไหว - ศิลปะ - ภาษา - สังคม - กาคิดคำนวณ - เครื่องยนต์กลไก - ตรรกะ - การเข้าใจผู้อื่น - อื่นๆคนที่มีความสามารถเด่นๆ เฉพาะทางที่รู้จักกันดีในสังคมโลก เช่น -Magic Johnson เป็นนักบาสที่เก่งมาก -Mozart เป็นนักดนตรีระดับโลก -Martin Luther King Jr. เป็นผู้นำที่มีความสามารถมาก -Sigmund Freud สามารถเข้าใจเรื่องจิตใจคนอย่างดีเยี่ยมฉะนั้นจึงควรส่งเสริมลูกให้พัฒนาความสามารถเฉพาะตัวของเขาให้เต็มที่ถ้ามี ผู้ใหญ่ไม่ควรไปขัดขวางเขาแต่ผู้ใหญ่ควรช่วยเขา
องค์ประกอบของอีคิวทักษะทางอารมณ์ หรือ อีคิวของคนอาจจัดได้เป็นเรื่องใหญ่ๆ 5 เรื่อง คือ 1. สามารถรู้อารมณ์ตัวเอง 2. สามารถบริหารอารมณ์ตัวเอง 3. สามารถทำให้ตัวเองมีพลังใจ 4. สามารถเข้าถึงจิตใจผู้อื่น 5. สามารถรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
1. สามารถรู้อารมณ์ตัวเองคนที่จะมีทักษะชีวิตที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติข้อนี้ คือเป็นที่รู้ตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร หรือสามารถติดตามความรู้สึกของตัวเองได้ใน ขณะที่อารมณ์กำลังบังเกิดขึ้นในตัวเรา เช่น รู้สึกว่าเรากำลังเริ่มรู้สึกโกรธ หรือเริ่มรู้สึกไม่พอใจแล้ว ฉะนั้นเราจึงต้องมีการสังเกตตัวเราเองอยู่เสมอ การรู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไรจะทำให้คนๆ นั้นควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ชั่ววูบ แล้วทำอะไรที่มีผลร้ายแรงดังที่เราเคยได้ยินเสมอๆ ว่า “เขาฆ่าคนตายเพราะเกิดบันดาลโทสะ”การรู้ว่าตัวเองกำลังมีอารมณ์แบบใดนอกจากจะทำให้เราควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ยังทำให้เราสามารถหลุดพ้นจากอารมณ์นั้นได้เร็วขึ้น เพราะทำให้เรารู้จักไปหาทางระบายอารมณ์นั้นออกไปอย่างเหมาะสมถูกต้องคนที่ไม่รู้จักหรือไม่รู้สึกถึงอารมณ์ตัวเองมากๆ จะไม่สามารถแสดงออกซึ่งอารมณ์ อาจกลายเป็นคนเฉยเมย เป็นคนไม่สนุก ไม่รู้สึกขบขันในเรื่องควรขบขันคือไม่มีอารมณ์ขัน ซึ่งจะกลายเป็นคนน่าเบื่อสำหรับผู้อื่นได้ เพราะเป็นคนจืดชืดไร้สีสันวิธีสอนให้ลูกรู้อารมณ์ตัวเองคือ พ่อแม่ต้องคอยสังเกตอารมณ์ลูกและพูดคุยถามถึงอารมณ์ของลูกที่เปลี่ยนไป เช่น พ่อแม่ อาจถามว่า “วันนี้ดูลูกอารมณ์ไม่ดี หนูมีอะไรไม่สบายใจหรือ?” และพ่อแม่เองจะต้องรู้และแสดงอารมณ์ของตัวเองให้เหมาะสมด้วย เช่น พูดว่า “วันนี้แม่รู้สึกหงุดหงิดไปหน่อยนะลูก”
2. สามารถบริหารอารมณ์ตัวเองทุกคนเมื่อมีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นแล้วต้อง รู้วิธีที่จะจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ อย่างเหมาะสม เช่น เกิดอารมณ์โกรธ อารมณ์ไม่พอใจอะไรใครจะต้องหาทางออก ไม่ใช่เก็บกดสะสมอารมณ์เหล่านี้ไว้มากๆ ซึ่งจะเกิดอาการทนไม่ไหวแล้วถึงจุดหนึ่งจะระเบิดอารมณ์ออกมารุนแรง โดยทำร้ายคนอื่นหรือทำร้ายตนเอง เช่น ฆ่าตัวตายวิธีบริหารอารมณ์หรือวิธีจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น คือ - พูดระบาย ให้คนที่พูดด้วยได้รับฟัง ซึ่งคนที่รับฟังมักจะช่วยปลอบใจได้ไม่มาก็น้อย หรือเขาอาจแสดงความเห็นใจด้วย - ทำความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง โดยคิดไตร่ตรองว่าคนที่ทำให้เราเกิดอารมณ์นี่เขาเป็นอย่างไร มีเหตุผลอะไร มีเจตนาร้ายหรือไม่ หรือเขามีปัญหาอะไร เป็นต้น ถ้าเราสามารถเข้าใจเขาได้ เราอาจเกิดความเห็นใจเขา หรือให้อภัยเขา ซึ่งจะลดลดอารมณ์ของเราลงได้ - หาวิธีผ่อนคลายให้ตัวเอง เช่น อาจไปเล่นกีฬา ร้องเพลง ฟังเพลง เล่นดนตรี เป็นการคลายเครียด - วิธีอื่นๆ แต่ละคนอาจมีวิธีทำแตกต่างไปบ้าง เช่น บางคนอาจไปเดินเล่น ไปซื้อของ ไปทำงานอดิเรกที่ตัวเองชอบ เป็นต้นในชีวิตประจำวันทุกคนต้องหัดจัดการกับอารมณ์ของตนเองอยู่แล้ว เพราะทุกวันเราจะเกิดอารมณ์ต่างๆ ขึ้น เช่น อารมณ์เบื่อ เศร้า เครียด หงุดหงิด รำคาญ เซ็ง โดยทั่วไปควรจะหากิจกรรมทำ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยว ไปคุยกับเพื่อน และอื่นๆ อีกมากวิธีช่วยลูกมีทักษะที่ดี พ่อแม่สามารถทำเป็นตัวอย่าง หรือแนะนำให้ลูกมีงานอดิเรกทำ แนะนำให้ลูกเป็นคนชอบอ่านหนังสือ คุยกับเพื่อน และที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือถ้าเล่นดนตรีได้จะดีมาก ดนตรีเป็นเพื่อนที่ดีมากของมนุษย์ ถ้ามีโอกาสและลูกชอบ พ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูกเลือกเรียนดนตรีอย่างหนึ่ง อย่างที่สองคือ การเล่นกีฬา เด็กควรเลือกกีฬาสักอย่างที่ชอบและสามารถเล่นไปได้ตลอดชีวิต เพราะนอกจากจะคลายเครียดยังช่วยให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย ซึ่งเป็นการป้องกันโรคต่าง ๆ ได้มาก จนมีคำพูดที่ว่า “กีฬาๆ เป็นยาวิเศษ”
3. สามารถทำให้ตนเองมีพลังคือเป็นคนที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือแรงใจให้อยากทำสิ่งต่างๆ ในชีวิต ไม่เป็นคนย่อท้อหมดเรี่ยวแรงง่ายๆ หรือยอมแพ้โดยง่ายดาย สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้มาจากหลายๆ องค์ประกอบ เช่น - พ่อแม่ปลูกฝังมาให้แต่เด็ก เช่น พ่อแม่ชื่นชมในความสำเร็จของลูก ลูกก็จะกลายเป็นคนอยากมีความสำเร็จ หรือพ่อแม่คอยให้กำลังใจและคอยสนับสนุนเวลาลูกทำอะไรๆ - การมีทัศนคติที่ดี เช่น พ่อแม่พูดว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” หรือมีทัศนคติว่าคนนั้นต้องมีความพากเพียรทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีใครได้อะไรมาอย่างง่ายๆ - วัฒนธรรม หลายวัฒนธรรมสอนเด็กให้เป็นคนขยัน อดทน เช่น วัฒนธรรมจีน - อารมณ์ คนที่มีอารมณ์ดีจึงจะมีจิตใจอยากทำสิ่งต่างๆ ถ้าเป็นคนมีปัญหาทางจิตใจ มีความขัดแย้งในชีวิตและครอบครัวจะมักไม่มีกำลังใจในการทำงาน - ความหวัง คนมีพลังใจทำอะไรต่อๆ ไปได้ต้องเป็นคนที่มีความหวังเป็นตัวหล่อเลี้ยงจิตใจให้อยากทำต่อไป - มองโลกในแง่ดี คนมองโลกในแง่ดีจะสามารถมองหาจุดดีๆ จากทุกๆ อย่างรอบตัวได้ คนนั้นก็จะสามารถมีแรงจูงใจในการทำอะไรต่อไป ตัวอย่างที่เคยได้ยิน เช่นมีสามีภรรยาคู่หนึ่งทะเลาะกันบ่อยมาก แต่เวลาไม่ทะเลาะกันเพื่อนๆ จะเห็นว่าเขามีความสุขดี แม้ว่าเวลาทะเลาะกันฝ่ายภรรยาจะค่อนข้างกร้าวร้าวและจะชอบเอาจานชามขว้างใส่สามี วันหนึ่งเพื่อนสามีจึงถามสามีว่าเห็นทะเลาะกันบ่อยๆ เหตุใดจึงยังมีความสุขได้ สามีจึงตอบเพื่อนว่ามีความสุขได้ เพราะเวลาภรรยาขว้างจานชามใส่ตน ถ้าตนหลบทันตนก็มีความสุข ส่วนถ้าตนหลบไม่ทันแล้วโดนขว้างภรรยาตนก็มีความสุข
4. สามารถเข้าถึงจิตใจผู้อื่นความสามารถนี้เป็นคุณสมบัติของผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับจิตใจผู้อื่นจะขาดไม่ได้เลย เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ แต่ที่จริงแล้วทุกๆ คน เป็นคนที่คนอื่นนิยมชมชอบ เป็นคนที่เพศตรงข้ามชอบ ทำให้เข้ากับคนอื่นได้ดี เป็นคนที่มีเสน่ห์ และสามารถเข้าสังคมได้เป็นอย่างดีความสามารถนี้ หมายถึง เราสามารถเข้าใจได้หรือรู้ได้ว่าถ้าเราเป็นเขาเราจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งหมายถึง ความเห็นใจคนอื่น หรือความสามรถที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเอง การที่คนเราจะสามารถเข้าใจจิตใจผู้อื่นได้เขาจะต้องเข้าใจตัวเขาเองก่อน เขาต้องรู้จักตัวเอง และมีความรู้สึกของตัวเองเสียก่อนว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร จึงจะสามารถ อ่านความรู้สึก ของผู้อื่นได้การที่จะอ่านความรู้สึกคนอื่นได้ดี จะต้องเป็นคนที่อ่านภาษาท่าทางได้ดี เพราะคนส่วนใหญ่แล้วจะแสดงอารมณ์เป็นภาษาท่าทางมากกว่าการแสดงอารมณ์เป็นคำพูด เช่น คนเวลาโกรธ มักจะแสดงท่าทางโกรธแบบต่างๆ เช่น หน้างอ หน้าบึ้งตึง มีกริยากระแทกกระทั้น เกินกระแทกเท้าโครมๆ ปิดประตูปึงปัง เป็นต้น แต่มีน้อยคนที่เวลาโกรธจะใช้คำพูดแสดงออกมาตรงๆว่า “ฉันกำลังรู้สึกโกรธคุณมากเลย คุณทำอย่านี้ได้อย่างไร”การอ่านภาษาท่าทางทำได้โดยการสังเกตการแสดงออกของ - น้ำเสียง เช่น เสียงดุ เสียงหวาน เสียงกัดฟัดพูด - สีหน้า เช่น สีหน้ายิ้มแย้ม บูดบึ้ง เฉยเมย เคร่งเครียด เหนื่อยหน่าย เศร้า - แววตา เช่น แจ่มใส เป็นประกาย เคียดแค้น หม่นหมอง อมทุกข์ โศก - กริยาต่างๆ เช่น ท่านั่ง เบือนหน้าหนี นั่งห่างๆ นั่งเข้ามาใกล้ชิดเกินไป นั่งแบบผ่อนคลาย นั่งกระสับกระส่าย
5. สามารถรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญอักเช่นกัน เพราะคงไม่มีประโยชน์ที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดี แต่ไม่สามารถทำให้ความสัมพันธ์นั้นยั่งยืนยาวนานได้ คือจะต้อง รู้จักหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ ที่มีอยู่ให้มีอยู่ต่อไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสามารถในการบริหารจัดการกับความรู้สึกของผู้อื่น โดยทำให้คนอื่นที่อยู่ใกล้เราแล้วเขาเกิดความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับตัวเขาเอง และเขาเกิดความรู้สึกที่ดีกับเราด้วย เช่น เราสามารถทำให้เขารู้สึกว่าเรา - เห็นเขาสำคัญ - ให้เกียรติเขา - ยกย่องเขา - เข้าใจเขา - เห็นเขามีคุณค่า - ช่วยเหลือเขา - เป็นมิตรกับเขา - หวังดีต่อเขา - รักเขาความสามรถในการรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นยังขึ้นกับว่า เรานั้นสามารถแสดงออกถึงความรู้สึกของเราเองได้ดีแค่ไหน ไม่เช่นนั้นแล้วเขาจะรู้สึกไม่เข้าใจเรา ไม่รู้จักเรา เข้าไม่ถึงเรา ทำให้เขาไม่ค่อยแน่ใจว่าเรานั้นเป็นคนอย่างไร วางใจได้แค่ไหน จริงใจเพียงใด เป็นต้นท้ายที่สุดนี้ ท่านผู้ปกครองที่สนใจข้อมูลข่าวสารเรื่องวิธีการเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความสุข ยังสามารถศึกษาเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องจากหนังสือ เลี้ยงลูกถูกวิธี ชีวีเป็นสุข ได้จากผลงานการเขียนของ ศาสตราจารย์แพทย์หญิง นงพงา ลิ้มสุวรรณ ได้
************************************************
เอกสารอ้างอิง "ไอคิวและอิคิว"
นงพงา ลิ้มสุวรรณ (2542). ไอคิวและอีคิว. เลี้ยงลูกถูกวิธี ชีวีเป็นสุข พิมพ์ครั้งที่ 9, กรุงเทพ: พรินท์ติ้งเพรส.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น